ที่ผ่านมา ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับเดิมปี พ.ศ. 2548 ซึ่งระบุว่า “ไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจบางชนิด ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดๆ ก็ตามในราชอาณาจักร ถือเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น”

แต่ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่ที่ปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม ซึ่งใช้มาอย่างยาวนานกว่า 78 ปี โดย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ระบุว่า “ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม” นั้นหมายความว่า การทำไม้โดยเฉพาะไม้มีค่า จึงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาตอีกต่อไป

แม้กฏหมายดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อกเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ ปลูกป่าเศรษฐกิจ และนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ แต่ในทางกลับกัน ยังคงเกิดคำถามถึงไม้ที่มีมูลค่า ซึ่งเติบโตอยู่นอกป่าไร้การคุ้มครอง รวมไปถึงต้นไม้ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือในชุมชนที่โดนบางหน่วยงานตัดโค่น โดยที่ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะทำการปกป้องพื้นที่สีเขียวของตนเอง

การอนุรักษ์พรรณพืชในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากการอนุรักษ์สัตว์เป็นอย่างมาก กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์นั้นครอบคลุมสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยมีพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นหลัก หรือแม้แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็อาจถูกคุ้มครองได้ด้วยกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ในเขตพิเศษดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่ากฎหมายว่าด้วยอนุรักษ์สัตว์นั้น ครอบคลุมทั้งการอนุรักษ์ในถิ่นอาศัย (in situ conservation) การอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย (ex situa conservation) และการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า

ในขณะเดียวกัน กฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พรรณพืช เช่น พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 นั้นเน้นการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และเน้นการนำเข้า-ส่งออกของพืชอนุรักษ์และพืชสงวนมากกว่าการอนุรักษ์ภายในประเทศ และยังเน้นการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าจะคำนึงถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

อย่างไรก็ดี กลุ่ม mor and farmer ได้ทำการใช้ machine learning แยกพื้นที่สีเขียวออกจากภาพถ่ายดาวเทียมของกรุงเทพฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 ถึง ต้นปี พ.ศ. 2561 พบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวทั้งสาธารณะและส่วนบุคคลคิดเป็นเพียง 13.7% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับแนวคิดเมืองสีเขียวของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เสนอให้เมืองควรมีพื้นที่สีเขียว 30-50% ต่อพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 40% ภายในปี พ.ศ. 2583 ของเมืองเมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย (เริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ. 2555 ด้วยพื้นที่สีเขียว 23%) ที่ปัจจุบันดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองกว่า 70,000 ต้น และให้ความสำคัญต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชท้องถิ่น

สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญต่อปริมาณพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยมี Singapore Botanic Gardens หรือสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 150 ปี และครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 512.5 ไร่ เป็นพื้นที่สำคัญและเป็นผู้นำระดับโลกในการวิจัยพันธุ์กล้วยไม้ที่ทางสวนฯ ดูแลอยู่มากกว่า 1,200 ชนิด

สิงคโปร์เองยังมีชุดกฎหมายว่าด้วยการรักษาต้นไม้โดยเฉพาะอย่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ (Parks and Trees Act) ซึ่งห้ามตัด แต่ง ทำลาย หรือย้ายต้นไม้ใดๆ ที่มีเส้นรอบวงใหญ่กว่าหนึ่งเมตรขึ้นไป ในพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ว่าง (vacant land) เว้นเสียแต่จะได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือประมาณล้านบาทเศษ และยังมีชุดคำสั่งเพื่อคุ้มครองต้นไม้ใหญ่สองข้างถนนสายสำคัญโดยเฉพาะ (Heritage Road Green Buffers, 2006) โดยทั้งหมดนี้สังกัดอยู่ภายใต้ความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์

สำหรับประเทศที่มีความภาคภูมิในทรัพยากรธรรมชาติของชาติตนเองจนเห็นได้ชัดจากการใช้ชีวิตและกิจกรรมหลากหลายกลางแจ้งที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนเช่นสหรัฐอเมริกานั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 รัฐสภากลางของอเมริกาได้ออกกฎหมาย Endangered Species Act, 1973 เพื่อคุ้มครองชนิดพันธุ์ต่างๆ ของสัตว์และพืช ทั้งในแง่คุณค่าทางความงดงาม, ระบบนิเวศ, การศึกษา, ประวัติศาสตร์, นันทนาการ, และวิทยาศาสตร์ ต่อชาติและประชาชน (aesthetic, ecological, educational, historical, recreational, and scientific value) และมีเกณฑ์ในการพิจารณาว่าชนิดพันธุ์ใดสมควรได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นระบบ โดยในแต่ละมลรัฐยังมีชุดกฎหมายและหน่วยงานว่าด้วยการอนุรักษ์ที่แยกย่อยลงไปอีก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สังคม และวิถีชีวิตที่แตกต่างของแต่ละรัฐด้วย

ในเมืองนิวยอร์ก ทางกรมสวนสาธารณะและสันทนาการ (Department of Parks and Recreation) ของเทศบาลเมืองยังได้จัดทำแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรสีเขียวในเมือง เช่น TreeCount! ซึ่งรวมอาสาสมัครกว่า 2,300 เข้าด้วยกันเพื่อทำการบันทึกต้นไม้แต่ละต้นในเมืองอย่างละเอียด (ชนิดพันธุ์, สุขภาพ, การดูแลที่ต้องการ, ขนาดต่างๆ, คุณประโยชน์ต่อชุมชนแวดล้อม, ฯลฯ) กว่า 685,781 ต้น และยังคำนวณคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปริมาณน้ำฝนที่ต้นไม้แต่ละต้นดูดซับไว้, ช่วยประหยัดไฟฟ้าคิดเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมงเท่าใดในแต่ละปี, ปริมาณมลภาวะที่ลดลง, ฯลฯ โดยจากการสุมตัวอย่าง ต้นไม้แต่ละต้นสามารถช่วยเมืองประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 530 ดอลล่าร์สหรัฐหรือ 16,000 บาทต่อปี

พื้นที่สีเขียว “โรงงานมักกะสัน”

โรงซ่อมรถไฟ โรงงานมักกะสัน พื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 109 ปี เปิดดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2453 มีหน้าที่ซ่อมหัวรถจักรและรถโดยสาร ครบวงจร ภายในเต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่มีคุณค่า อาทิ อาคารพัสดุโรงงาน โรงงานซ่อมรถจักร อาคารหล่อและกระสวน อาคารสถานีรถไฟมักกะสัน สถานที่เก็บหัวรถจักรอายุมากกว่า 120 ปี และโรงเรียนช่างฝีมือพระดาบส ซึ่งระงับการเรียนการสอนไปในปี พ.ศ. 2546

รวมถึง “อาคารพลับพลาที่ประทับทรงงาน” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรฯ การปรับปรุงบึงมักกะสันเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเสียในคลองสามเสน ตามโครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ปัจจุบัน แม้อาคารดังกล่าวจะผุพังไปตามกาลเวลา แต่ยังคงถูกอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าทางจิตใจของชาวโรงงานมักกะสันจนถึงปัจจุบัน

เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า

ปี

พื้นที่รวมกว่า

ไร่

ป่าอนุรักษ์ ใจกลางย่านเศรษฐกิจ

เนื่องจากโรงงานมักกะสันซ่อนตัวอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจ ไม่ห่างจากสยามสแควร์ ซึ่งมีที่ดินมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้าย่านสีลม กินพื้นที่ตั้งแต่ อโศก ถึง ราชปรารภ ด้านข้างติดถนนนิคมมักกะสัน และ ถนนจตุรทิศ รวมกว่า 497 ไร่ ทำให้ที่ผ่านมา ที่นี่กลายเป็นจุดดึงดูดให้กับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน เสนอโครงการเพื่อปรับปรุงพื้นที่ในเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน ภายในโรงงานมักกะสัน ซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและนกนานาชนิด อาทิ นกเขา นกกาเหว่า นกกะปูด นกเอี้ยงต่างชนิด และกา รวมถึงพันธุ์ไม้สำคัญๆ ที่อายุร่วมร้อยปี ผนวกกับมรดกทางด้านอุตสาหกรรมที่มีมายาวนาน กลายเป็นจุดเริ่มของการรวมตัวเพื่อคัดค้านการเข้ามาใช้พื้นที่ของนายทุนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ที่ผ่านมาชาวโรงงานมักกะสันต้องต่อสู้กับความต้องการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์หลายต่อหลายครั้ง ล่าสุด มีกลุ่มเอกชนซึ่งได้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน โดยใช้พื้นที่ในโซน A กว่า 150 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคม โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ในแผนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งต้องตัดต้นไม้ใหญ่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไปจำนวนมาก กลายเป็นความกังวลต่อความสูญเสียทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของโรงงานมักกะสันกลุ่ม Thailand Data Journalism ร่วมกับ ที่ปรึกษาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย, กลุ่ม BigTree และ Boonmee Lab ซึ่งมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการอนุรักษ์รุกขมรดก จึงได้ทดสอบการเก็บข้อมูลต้นไม้โดยใช้การมีส่วนร่วมมวลชน (Crowdsourcing) โดยใช้ระบบ Yupin ซึ่งเป็น Crowdsourcing platform พัฒนาโดย Boonmee Lab ซึ่งระบบนี้สามารถให้ประชาชนระบุพิกัด, รายละเอียดและรูปภาพของต้นไม้ได้ผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ โดยทั้งสี่ภาคส่วนได้ร่วมกันทดสอบระบบนี้ที่โรงงานมักกะสันเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 โดยมุ่งเน้นไปในบริเวณที่ต้นไม้มีความเสี่ยงในการถูกตัดในระยะเวลาอันใกล้นี้ ข้อมูลนี้สามารถนำไปให้นักออกแบบและพัฒนาพื้นที่มักกะสันเพื่อเลี่ยงการตัดต้นไม้เหล่านี้โดยไม่ตั้งใจ

โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำฐานข้อมูลเปิด (Open Data) ของต้นไม้ทั้งหมดในกรุงเทพฯ (Tree Census) เช่นเดียวกับในเมือง New York และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะต้องใช้ความร่วมมือของมวลชนในกรุงเทพฯ

ตัวอย่างต้นไม้ใหญ่ในมักกะสัน

พิกัดต้นไม้และรายละเอียดจากการใช้ Youpin สำรวจมักกะสัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม และ 7 กันยายน 2562 กดที่ icon ต้นไม้เพื่อดูรูปและรายละเอียดต้นไม้

“เอวา” แห่งป่ามักกะสัน

“เอวา” เป็นชื่อที่ชาวโรงงานมักกะสันและคนรักษ์ต้นไม้ตั้งขึ้นแทนชื่อ “ต้นร่มฉัตร” มีขนาดเส้นรอบวงของลำต้นกว้างกว่า 4 เมตร ด้วยความสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นบริเวณกว้างเกือบ 60 เมตร ทำให้หลายคนไม่สามารถมองผ่านความสวยงามนี้ไปได้

ความพิเศษของ “เอวา” นอกจากจะสามารถสร้างความเย็นได้เท่ากับแอร์ขนาดเล็กหลายเครื่องแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัดใน “ศาสตร์ชี่กง” ที่เดินทางมาทดสอบพลังงานธรรมชาติจากต้นไม้ว่า ต้น “เอวา” หรือ ร่มฉัตร ต้นนี้ มีพลังงานธรรมชาติในแง่การใช้รักษาบำบัดเพียงพอตามศาสตร์ชี่กง

ที่ผ่านมา มีการศึกษามากมายจากต่างประเทศในเรื่อง “การอาบป่า” ซึ่งมีหลักการใกล้เคียงกับศาสตร์ชี่กง คือ การเข้าไปในป่า เพื่อให้ต้นไม้และสรรพสิ่งบำบัดรักษา แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหาก “ต้นเอวา” ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานมักกะสันต้นนี้ ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นและถูกตัดโค่นออกไปอย่างง่ายดายตามแผนการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานอย่างขาดความตระหนักในมูลค่าของธรรมชาติที่ยากจะทดแทนด้วยมูลค่าตัวเงิน

“หากรากของ เอวา พูดได้เหมือนอย่างต้นไม้ในภาพยนตร์ เรื่อง Avatar (อวตาร) ที่โด่งดัง มันคงสื่อสารว่าอย่าทำลายมันเลย ขอให้มันได้ทำประโยชน์ ในการต่อลมหายใจให้กับมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อ่อนแอด้วยโรคภัยและมลพิษสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มหนักหนาสาหัสบนโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากและเกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง “เอวา” สามารถเป็นสนามเล่นให้เด็กๆ และผู้คนมาพักพิงในยามเหนื่อยล้าจากโลกภายนอกได้อย่างยาวนาน อย่างน้อยก็น่าจะเกินกว่าชั่วอายุของคนสั่งตัดแน่นอน”

ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะ (มีสิทธ์) คุ้มครองต้นไม้

กลุ่ม Big Trees (บิ๊กทรี) ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่ต้องการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยการดูแลที่ถูกต้องบนพื้นฐานของความเข้าใจ เพื่อให้ต้นไม้ใหญ่ ได้เติบโตไปพร้อมกับเมือง

ในปี 2554 กลุ่ม Big Trees ได้ทำการสำรวจต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการให้ประชาชนถ่ายภาพ พร้อมเขียนรายละเอียดต้นไม้ส่งเข้าประกวดผ่านทางเฟซบุ๊ค รวมกว่า 100 ต้น โดยแบ่งหมวดเป็น ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุด ต้นไม้ที่สูงที่สุด ต้นไม้ที่สวยที่สุด ต้นไม้ที่มีคุณค่าน่าประทับใจมากที่สุด และต้นไม้พิเศษที่น่าสนใจที่สุด

จากการสำรวจต้นไม้ 100 ต้นล่าสุด โดยกลุ่ม Data Journalism ผ่านทางภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า ต้นไม้บางต้น ได้หายไปจากพื้นที่ที่มีการระบุไว้ และมีการสร้างคอนโดเข้ามาแทนที่ หรือ บางต้นยังคงอยู่ในจุดพิกัดเดิม แต่ไม่สามารถทราบได้ว่า ได้รับการดูแลที่ดีอย่างถูกต้องตลอด 8 ปีที่ผ่านมาหรือไม่

มาร่วมพิทักษ์ต้นไม้ใหญ่กับเรา

เมื่อพื้นที่สีเขียวในฝันไม่ใช่แค่การปลูกหรือรดน้ำพรวนดินสม่ำเสมอเท่านั้น เพราะสิ่งที่ต้นไม้ในเมืองต้องการคือการดูแลอย่างถูกต้องบนพื้นฐานของความเข้าใจ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราทุกคนต้องเป็นผู้เป็นพิทักษ์เหล่าต้นไม้ใหญ่ให้เติบโตไปพร้อมกับเมือง